ยิ่งแก้ยิ่งรุนแรง-ขัดแย้ง 'น้ำท่วมร้ายแรง'
ตั้งแต่ปี 2485 ที่กรุงเทพมหานครเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ บริเวณถนนราชดำเนินปัจจุบันยาวไปถึงลานพระบรมรูปทรงม้า น้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร ชาวพระนครต้องพายเรือออกจากบ้านเพื่อไปทำธุระและล่องชมสภาพน้ำตามถนนหนทางซึ่งไม่เคยปรากฏเช่นนี้มาก่อน จ.นครราชสีมาปัจจุบันก็ไม่ต่างกันในรอบ 50 ปี ไม่เคยมีน้ำท่วมครั้งใหญ่มาก่อนและปริมาณน้ำได้ล้นทะลักเข้าสู่บ้านเรือนประชาชนเกือบตลอดพื้นที่รวมถึงจังหวัดใกล้เคียงที่รับผลกระทบไปไม่ต่างกัน ขณะที่ชาวกรุงเทพฯ หลังจากเกิดน้ำท่วมใหญ่ในยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็เกิดเหตุการณ์ฝน 100 ปี เมื่อพ.ศ. 2538 ก็เกิดน้ำท่วมใหญ่ในกทม.อีกครั้ง
ยุคที่พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีน้ำเหนือไหลหลากท่วม จ.พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ก่อนทะลักเข้ากรุงเทพฯ ใต้สะพานสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ในวันที่ 27 ตุลาคม 2538 วัดได้สูงถึง 2.27 เมตร ว่ากันว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์เท่ากับน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2485 ถนนเกือบทุกสายในกทม.จมอยู่ใต้น้ำระดับ 50-100 ซม. เกิดความโกลาหลทั่วทุกชุมชน คราวนั้นหมู่บ้านจัดสรรหลายแห่งจมอยู่นานกว่า 2 เดือนกว่าเจ้าหน้าที่จะช่วยสูบน้ำออกได้หมด หากย้อนดูอุทกภัยใหญ่ทั่วประเทศในอดีตซึ่งเกิดความเสียหายชนิดที่ต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ ก็ต้องไล่เรียงตั้งแต่ปี 2533 เกิดพายุขนาดใหญ่นาม "อีรา" พัดถล่มภาคอีสานโดยเฉพาะในจ.อุบลราชธานี ครั้งนั้นถนนเสียหายถึง 4 พันสาย สะพานพังพินาศถึง 332 แห่ง พื้นที่การเกษตรจมหายกว่า 4 ล้านไร่ ประมาณค่าเสียหายกว่า 6 พันล้านบาท
ถัดมาอีก 3 ปี 2536 พายุดีเปรสชันนำหายนะสู่ภาคใต้ โดยเฉพาะ จ.นครศรีธรรมราช ต้องอพยพประชาชนกว่า 2 หมื่นคน เสียหายไปกว่า 1.2 พันล้านบาท เช่นเดียวกับภาคเหนือในปี 2540 พายุ "ซีตา" ที่เคลื่อนผ่านเวียดนามเข้าสู่ประเทศไทยตอนบนในเดือนสิงหาคม ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่มีผู้ประสบภัยกว่า 8 แสนคน ผู้เสียชีวิตถึง 49 ราย สะพานถนนหนทางและสิ่งปลูกสร้างถูกน้ำพัดหายไปเกือบ 5 พันแห่ง มูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 3 พันล้านบาท ภาคเหนือก็ไม่แตกต่างกันดอยสูงใหญ่หรือแม้แต่ป่าทึบก็ไม่อาจหยุดยั้งทะเลโคลนที่ไหลถล่มลงมาเมื่อเช้ามืดวันที่ 23 พฤษภาคม 2549 กว่า 200 หมู่บ้านในจ.อุตรดิตถ์ ไล่ตั้งแต่อ.ลับแล อ.ท่าปลา และอ.เมืองอุตรดิตถ์ จมโคลนมีชาวบ้านเสียชีวิตถึง 75 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 2 พันล้านบาทเพียงชั่วข้ามคืน
จนถึงวันนี้หลายหมู่บ้านยังไม่อาจลืมความน่าสะพรึงกลัวได้ ทว่าปีเดียวกันเกิดอุทกภัยขึ้นในอีก 47 จังหวัด เนื่องจากน้ำเหนือไหลหลากเข้า จ.ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ลพบุรี ปทุมธานี และกรุงเทพฯ พื้นที่การเกษตรเสียหายกว่า 1.38 ล้านไร่ ถนนในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะริมฝั่งเจ้าพระยาบางแห่งน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร "ชาญชัย วิทูรปัญญากิจ" อดีตผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กรมชลประทาน ผู้ผ่านประสบการณ์น้ำท่วมใหญ่มาหลายครั้ง เปรียบเทียบเหตุน้ำท่วมใหญ่ในอดีตกับสถานการณ์ปัจจุบันว่า ไม่น่าเป็นห่วง เชื่อว่ากรุงเทพฯ จะไม่เจอน้ำท่วมหนักอย่างปี 2538 และ 2549 อย่างแน่นอน เนื่องจาก 2 ปัจจัยคือ 1.ปริมาณการปล่อยน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา 2.ระบบการระบายน้ำของกรุงเทพฯ จากข้อมูลช่วงวันที่ 20-21 ตุลาคมนั้น เขื่อนเจ้าพระยาได้ระบายน้ำออกมาประมาณ 2,300-2,600 ลบ.ม./วินาที ต่างจากปี 2538 ที่เขื่อนเดียวกันเร่งระบายสูงถึง 5,900 ลบ.ม./วินาที ส่วนปี 2549 มีการปล่อยน้ำปริมาณมากกว่า 4,000 ลบ.ม./วินาที เปรียบเทียบแล้วการระบายน้ำยังไม่น่าเป็นห่วง
"ดูจากปัจจัยที่สองเชื่อว่ากทม.จะไม่ซ้ำรอยน้ำท่วม 100 ปี แน่เพราะมีการสร้างเขื่อนเป็นแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา จากบางซื่อ-บางกอกน้อย ระยะทางยาว 77 กิโลเมตร สูง 2.5 เมตร ตอนนี้เจ้าหน้าที่เตรียมกระสอบทรายเสริมพื้นที่ซึ่งยังสร้างเขื่อนไม่เสร็จแล้ว แต่ปี 2538 กับ 2549 ยังไม่มีเขื่อนตัวนี้ช่วย ที่บางคนห่วงว่าน้ำทะเลจะหนุนสูงสุดในวันที่ 23-26 ตุลาคม ที่อาจทำน้ำท่วมนั้น ก็ไม่น่ากังวลเพราะน้ำทะเลจะหนุนสูงเพียงไม่กี่ชั่วโมง จากนั้นน้ำก็ขึ้นๆ ลงๆ ถ้าระบบระบายน้ำดีก็ไม่มีปัญหา" ผู้เชี่ยวชาญน้ำยืนยัน
สภาพของฝนที่ตกในพื้นที่ลุ่มน้ำ โดยทั่วไปจะมีอิทธิพลโดยตรงต่อจำนวนน้ำที่เกิดขึ้นในลำธารและแม่น้ำ ปริมาณจะน้อยหรือมากเพียงใดขึ้นอยู่กับ ความเข้มของฝนที่ตก ระยะเวลาที่ฝนตก และการแผ่กระจายของฝนที่ตกในบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำ ดังรายละเอียดซึ่งได้กล่าวแล้วในเรื่องการอนุรักษ์ต้นน้ำลำธาร “ซึ่งดูเหมือนเป็นเรื่องพื้นๆง่ายๆ ที่ผู้คนในสังคมเข้าใจได้ไม่ยากนัก ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าแล้วทำไมสังคมไทยถึงยังต้องผจญกับอุทกภัยน้อยใหญ่ ปีแล้วปีเล่า ครั้งแล้วครั้งเล่า เกิดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนของหน่วยงานรวมไปถึงต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินไปครั้งละมาก อย่างครั้งนี้ที่ฝนตกหนักต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ทำให้ผู้คนตามจังหวัดต่างๆ
ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าสังคมไทยเราในแต่ละภูมิภาคจะนำเรื่องนี้มาพิจารณาร่วมกันอย่างจริงจังหรือไม่เพียงใด บทเรียนจากการสูญเสียที่ผ่านมาจากอดีตถึงปัจจุบันจากกรณีอุทกภัยในแต่ละปีแต่ละช่วงซึ่งหนักหนาสาหัสสากรรจ์ทั้งนั้นไม่ว่ากรณีน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ ในปี2526 และ 2538 ภัยพิบัติที่กะทูนในปี 2531 น้ำท่วมหนักหาดใหญ่ในปี2543 และ 2548
น้ำท่วมหนักเสียหายหนักที่อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่และบ้านน้ำก้อ อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ในปี 2544 สังคมต้องสังเวยทั้งชีวิตและทรัพย์สินไปมากแค่ไหน และเรายังจะดันทุรังเอาชนะธรรมชาติกันอย่างไม่ลืมหูลืมตา เชื่อมั่นในศักยภาพของวัตถุและเทคโนโลยีว่าจะชนะได้ บทเรียนเหตุการณ์ในช่วงนี้น่าจะเป็นอุทาหรณ์ให้เราได้ตั้งหลักคิดถึงเรื่องช่วยกันรณรงค์ปลูกต้นไม้ในทุกแห่งหน การวางแผนการใช้ที่ดินที่ไม่ใช่ใช้ที่ทำนาเป็นบ้านจัดสรร การออกแบบบ้านเรือนริมน้ำตามแบบของฝรั่ง ฯลฯ
อาจจะดูญี่ปุ่นเป็นตัวอย่าง ญี่ปุ่นหรือที่ใครๆ รู้จักกันในนามของดินแดนอาทิตย์อุทัยนั้น ถือเป็นประเทศที่เรียกได้ว่าผสมผสานระหว่างความเก่าและใหม่ได้อย่างลงตัวมากที่สุดประเทศหนึ่ง เพราะถึงแม้ว่าบ้านเมืองของญี่ปุ่นจะเจริญถึงขีดสุดและถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางด้านอุตสาหกรรมสูงสุดประเทศหนึ่งของโลก มีตึกสูงระฟ้า มีเครื่องใช้ไฟฟ้าที่แสนจะไฮเทค รวมทั้งเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทันสมัยเพียงใดก็ตาม แต่ว่าญี่ปุ่นก็ยังคงอนุรักษ์และเก็บรักษาสิ่งก่อสร้างในอดีตและวัฒนธรรมเก่าแก่ที่บรรพบุรุษทิ้งไว้ให้ได้เป็นอย่างดี
หากเราไปญี่ปุ่นจะสังเกตเห็นตึกสูงใหญ่ระฟ้าตั้งอยู่เคียงข้างวัดเก่าแก่ หรือมีศาลเจ้าชินโตเล็กๆ ตั้งอยู่บนชั้นดาดฟ้าของตึก ซึ่งสิ่งที่เห็นเหล่านี้ยืนยันได้ว่า ความเชื่อและคุณค่าที่ยึดถือกันมาเป็นประเพณีนั้น ยังดำรงอยู่ตลอดมาจากอดีตจนถึงปัจจุบันได้อย่างเหนียวแน่น
การที่ประเทศของเขาเต็มไปด้วยภูเขาไฟ (ญี่ปุ่นยังมีภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นอีก 67ลูก)ดังนั้นลักษณะการก่อสร้างถนน บ้านเรือน จึงถูกออกแบบให้ยืดหยุ่นกับภาวะทางธรรมชาติแห่งเมืองภูเขาไฟ ไม่ลุกล้ำดัดแปลงธรรมชาติจนเกินพอดี ไม่แตะต้องแหล่งทำนา และพืชผักฯลฯ สังคมเราจะต้องสูญเสียกันอีกกี่ครั้ง? จะต้องเสียชีวิตผู้คนไปอีกเท่าไหร่? ถึงจะทำให้สังคมเราได้ลงมือคิดและลงมือปฏิบัติกับสิ่งเหล่านี้อย่างจริงๆ จังๆ?? หรือเราคิดว่าเรายังจะเอาชนะธรรมชาติได้กันอยู่อีก….
ไทยไม่เท่าทันโลกร้อน!
”แม้ว่ารัฐบาลทุกยุคทุกสมัยจะให้ความสำคัญต่อปัญหาน้ำท่วม และหาทางแก้ไขน้ำท่วมมาโดยตลอด ซึ่งพบว่าที่ผ่านมาในอดีตประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง เช่น การลดความรุนแรงของน้ำท่วมที่เกิดขึ้นโดยการสร้างเขื่อนอเนกประสงค์ หรือทำนบ ทำคันดิน ตลอดจนสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ แต่ก็สามารถช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมได้เพียงบางส่วนเท่านั้น...เมื่อพิจารณาภาพรวมของปัญหากับข้อมูลหลายฝ่ายประกอบกัน พบว่า ความเสี่ยงต่อภาวะการถูกน้ำท่วมมีมากกว่าในอดีต แนวโน้มความเสียหายมีความรุนแรงและมากขึ้น...”
...นี่เป็นส่วนหนึ่งจากชุดข้อมูล “เจาะข้อมูลเชิงลึกประเทศ ไทย...ทำไมต้องเจอภัยน้ำท่วมร้ายแรง?” โดย ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล หน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งพิจารณาจากน้ำท่วมใหญ่ปีนี้ ก็สอดคล้องชัดเจน
ทำไมไทยต้องเจอภัยน้ำท่วมร้ายแรงอยู่เรื่อย ๆ?? ประเด็นนี้น่าคิดและน่าพิจารณาวิธีการแก้ไขที่ทำอยู่...
ทั้งนี้ จากข้อมูลของ ศ.ดร.ธนวัฒน์ ได้มีการระบุย้อนไปถึงสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ในไทยในอดีต ยึดโยงกับปรากฏการณ์ธรรม ชาติ โดยเฉพาะ “ภาวะโลกร้อน” ซึ่งน่าสนใจ และหากกระชับข้อมูลโดยโฟกัสเฉพาะบางพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วมเป็นประจำอย่างพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะตอนล่าง รวมถึงพื้นที่กรุงเทพฯ ก็มีประเด็นสำคัญที่น่าคิด ภายใต้หัวข้อ “น้ำท่วม...ยิ่งแก้ยิ่งทวีความรุนแรงและขัดแย้งมากขึ้น”
โดยสังเขปคือ...การขยายตัวของชุมชนและการพัฒนาด้านเกษตรกรรมในพื้นที่ ในยุคหลังได้มีการถมดินในพื้นที่ชุมชนและถมคลองระบายน้ำ มีการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมขึ้นในที่ราบลุ่มสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเริ่มจากการก่อสร้างระบบปิดล้อมพื้นที่ชุมชนแล้วขยายพื้นที่ปิดล้อมต่อไปยังพื้นที่เกษตรกรรม
หลังเหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2518, 2521, 2523 ได้มีการ ก่อสร้างระบบพื้นที่ปิดล้อมป้องกันน้ำท่วมเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน ประมาณปี 2524 ต่อมาจึงเกิดการสร้างระบบปิดล้อมขนาดใหญ่ รอบพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยหลังเหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2526 ที่เกิดน้ำท่วมกรุงเทพฯ และปริมณฑลหลายเดือน การก่อสร้างระบบปิดล้อมช่วยป้องกันพื้นที่ชุมชนหนาแน่นและพื้นที่เขตเศรษฐกิจบริเวณกรุงเทพฯ ไม่ให้มีปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในปีต่อ ๆ มา และฝั่งธนบุรีก็ได้มีการสร้างระบบปิดล้อม
ระบบปิดล้อมนี้ช่วยให้พื้นที่ชุมชนหนาแน่นและพื้นที่เศรษฐกิจ ของกรุงเทพฯ ไม่ถูกน้ำท่วม แต่ต่อมาพื้นที่รอบนอกที่อยู่นอกคันกั้นน้ำท่วมของระบบปิด ต้องได้รับผลกระทบของน้ำท่วมเป็นเวลานานขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่เกษตรกรรมรอบนอก นำมาสู่ความขัดแย้งทางสังคมทุกครั้งที่มีน้ำท่วม โดยเฉพาะระหว่างชุมชนนอกคันป้องกันน้ำท่วมและพื้นที่เกษตรกรรมรอบนอก และพื้นที่ชุมชนที่มีระบบปิดล้อมกับชุมชนที่ไม่มีระบบ
ชุดข้อมูลโดย ศ.ดร.ธนวัฒน์ บางช่วงบางตอนยังชี้ไว้อีกว่า ...ผลของการสร้างพื้นที่ปิดล้อมทางตอนบน และการสร้างกำแพงป้องกันน้ำท่วมริมตลิ่งสองฝั่งแม่น้ำ ตั้งแต่สิงห์บุรีจนถึงกรุงเทพฯ ทำให้ความเร็วของกระแสท้ายน้ำรุนแรงมากขึ้น ซึ่งการพยายามป้อง กันทุกส่วนของพื้นที่ทั้งลุ่มน้ำไม่ให้ถูกน้ำท่วมด้วยโครงสร้างทางวิศวกรรม ในขณะที่การพัฒนาด้านต่าง ๆ ทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำหรือพื้นที่เก็บกักน้ำชั่วคราวสองฝั่งแม่น้ำลดลงจนแทบไม่มีเหลือ ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้นมาก เนื่องจากไม่สามารถเอ่อไปท่วมพื้นที่อื่น
ในอนาคตหากการพัฒนายังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง หากปีใดเกิดมีปริมาณน้ำมากใกล้เคียงหรือมากกว่าปี 2538 ก็จะเป็นปัญหา น้ำอาจล้นคันกั้นน้ำเข้าท่วมในพื้นที่ป้องกันต่าง ๆ ที่ได้มีการพัฒนาเป็นพื้นที่อยู่อาศัย อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม ที่กระจายอยู่ทั่วไป ซึ่งหากเป็นเช่นนี้...ยับเยินแน่!!
ทั้งนี้ แนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างที่ผ่านมาก่อให้เกิดความรุนแรงและความขัดแย้งทางสังคมมากขึ้นจนเห็นได้ชัดเจนขึ้นทุกวัน ซึ่ง ผลจากการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมโดยใช้มาตรการก่อสร้างเป็นหลัก การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมแบบแยกส่วนพื้นที่โดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อภาพรวมของลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง การพัฒนาในทุกด้านที่กระจายทั่วไป พื้นที่เกษตรกรรมที่เดิมใช้เป็นที่รองรับน้ำหลากได้กลายเป็นพื้นที่ชุมชน อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม ทำให้ยากต่อการบริหารจัดการน้ำในภาวะวิกฤติในอนาคต การแก้ปัญหาน้ำท่วมจะเป็นสิ่งทำได้ยากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต
ปิดท้ายภายใต้หัวข้อ “น้ำท่วม...ยิ่งแก้ยิ่งทวีความรุนแรงและขัดแย้งมากขึ้น” ชุดข้อมูลโดย ศ.ดร.ธนวัฒน์ ได้ชี้ถึงประเด็น มาตรการบริหารจัดการน้ำท่วมทั้งระบบของประเทศไทยยังล้าสมัย โดยเฉพาะในปัจจุบันที่สภาพอากาศมีการแปรปรวนมาก พร้อมทั้งชี้ถึงหัวใจสำคัญที่ในประเทศไทยก็มีการพูดถึงมานาน เพื่อให้การแก้ไขและป้องกันปัญหามีความเหมาะสมกับสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลง
นั่นคือ “มาตรการบริหารจัดการน้ำท่วมแบบบูรณาการ” ซึ่งในประเทศไทยเรายังแค่ได้ยิน...แต่ยังเห็นได้ไม่ชัด!!!.
บทความโดย : http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=23&contentID=102588