คำแนะนำสำหรับผู้ควบคุมงานการก่อสร้างบ่อบาดาล

1. เลือกสถานที่เจาะบ่อบาดาลให้เหมาะสมตามวัตถุประสงค์การใช้งาน เช่น อยู่ที่ในสาธารณะ ซึ่งสามารถดำเนินการพัฒนาเป่าล้างบ่อได้สะดวก ห่างจากส้วมหรือขยะ เป็นต้น

2. ตรวจสอบเทคนิค และเครื่องมือเจาะบ่อบาดาลของผู้รับจ้างว่าเหมาะสมและมีประสิทธิภาพหรือไม่ เพื่อให้การเจาะบ่อดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3. จัดทำรายงานการเจาะบ่อบาดาลพร้อมเก็บตัวอย่างวัสดุตามข้อกำหนด โดยละเอียด

4. ตรวจสอบว่า ท่อกรุ, ท่อกรอง และกรวดขนาดต่างๆ เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้หรือไม่ พร้อมถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน

5. ตรวจสอบการทดสอบปริมาณน้ำ และเก็บตัวอย่างน้ำ ให้เป็นไปตามวิธีการมาตรฐาน และข้อกำหนด

6. ตรวจสอบสภาพบ่อและบริเวณโดยทั่วไป ก่อนทำการอนุญาติให้ลงท่อกรอง และท่อกรุ และให้มีการบันทึกภาพวีดีทัศน์ ขณะทำการลงท่อกรอง และท่อกรุ และให้ผู้รับจ้างส่งมอบม้วนวีดีทัศน์พร้อมกับการส่งมอบงาน

7. ทดสอบปริมาณน้ำและคุณภาพภายหลังการลงท่อกรุ และท่อกรองอีกครั้งหนึ่ง เสร็จแล้วจึงทำบันทึกรายงานประวัติ การก่อสร้างบ่อเพื่อขึ้นทะเบียนต่อไป

การวิเคราะห์คุณภาพน้ำบาดาล

การวิเคราะห์คุณภาพน้ำบาดาล เป็นขั้นตอนที่ต่อเนื่องจากการขุดเจาะ และทดสอบปริมาณน้ำของบ่อบาดาล ผลที่ได้จากการวิเคราะห์คุณภาพน้ำ จะเป็นคำตอบว่าน้ำบาดาลบ่อนั้น มีคุณภาพเพียงพอสำหรับการ อุปโภค หรือ บริโภค หรือไม่

การวิเคราะห์คุณภาพน้ำ ประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ ดังนี้

1. กำหนดวัตถุประสงค์ของการวิเคราะห์คุณภาพน้ำ

2. เก็บตัวอย่างน้ำ

3. วิเคราะห์คุณภาพน้ำ

รายละเอียดแต่ละขั้นตอนมีดังนี้

1. กำหนดวัตถุประสงค์ของการวิเคราะห์คุณภาพน้ำ ก่อนอื่นเราต้องทราบก่อนว่า จะทำการวิเคราะห์คุณภาพน้ำ เพื่อวัตถุประสงค์อะไร เช่น เพื่อการอุปโภคบริโภคในครัวเรือน , เพื่อใช้ในขบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อการเกษตร หรือ เพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ ตารางที่ 1 จะแสดงค่าต่างๆ ที่ควรวิเคราะห์ สำหรับการนำน้ำไปใช้ประโยชน์ เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ

การเก็บตัวอย่างน้ำ

เป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญ เพราะ ตัวอย่างน้ำที่เก็บจากบ่อบาดาลนั้น จะนับว่าเป็นตัวแทนของคุณภาพน้ำในบ่อได้ ก็ต่อเมื่อน้ำตัวอย่างที่ถูกเก็บมานั้น ได้รับการเก็บและรักษาอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ

ดังนั้น ก่อนที่จะทำการเก็บตัวอย่างน้ำ จะต้องทราบเสียก่อนว่า จะวิเคราะห์หาค่าอะไร เพื่อจะได้มีการเก็บและรักษาน้ำตัวอย่างได้ถูกต้อง การเก็บตัวอย่างน้ำประกอบด้วยข้อพิจารณาดังนี้

อุปกรณ์เก็บตัวอย่างน้ำ

- ขวดเก็บน้ำตัวอย่าง เป็นชนิดขวดแก้วหรือขวดพลาสติก (โพลิเอทิลีน) ถ้าเป็นขวดแก้วควรเป็นขวดสีชาหรือสีน้ำตาล ขนาดความจุพอเพียงสำหรับการวิเคราะห์น้ำตัวอย่างแต่ละชนิด มีฝาเกลียวปิดมิดชิด ก่อนใช้ควรล้างให้สะอาด ด้วยน้ำสะอาด 2 – 3 ครั้ง แล้วจึงล้างด้วยน้ำกลั่น ทำน้ำตัวอย่างให้เป็นกรดด้วยกรดเกลือเข้มข้นจน พีเอช ต่ำกว่า 2 ขวดเก็บน้ำตัวอย่างที่เป็นโพลิเอทิลีน เมื่อออกจากโรงงานผลิตใหม่ๆ อาจจะมีโลหะบางชนิดติดค้างหลงเหลืออยู่ ควรจะล้างขวดชนิดนี้ให้สะอาดด้วยกรดเกลือเข้มข้นและตามด้วยน้ำประปา และน้ำกลั่นหลายๆ ครั้ง ก่อนนำมาใช้

- อุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้ประกอบในการเก็บน้ำตัวอย่างได้แก่ ภาชนะสำหรับตักน้ำ เช่น กระบอกตวง ถังน้ำแข็ง เทอร์โมมิเตอร์ สายวัด ดินสอ ฉลากสำหรับปิดขวด สารเคมีที่ใช้ประกอบการเก็บน้ำตัวอย่าง ฯลฯ

วิธีเก็บน้ำตัวอย่าง

- น้ำในบ่อบาดาลที่มีการใช้มานาน คุณภาพของน้ำไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง การเก็บน้ำตัวอย่างเพียงตัวอย่างเดียว ก็พอจะบอกลักษณะสมบัติของน้ำได้ อย่างไรก็ดี การเก็บตัวอย่างน้ำจากบ่อบาดาลต้องทำการสูบน้ำออกจากบ่ออย่างน้อย 10 นาที สำหรับการใช้ปั๊มซับเมอร์ส เพื่อจะได้น้ำที่อยู่ในชั้นน้ำจริงๆ และกรณีของการใช้สูบมือโยกควรโยกน้ำทิ้งให้มากที่สุดก่อนทำการเก็บตัวอย่าง

ปริมาณน้ำตัวอย่าง

- ในการเก็บน้ำตัวอย่างแต่ละครั้ง ต้องรู้จุดมุ่งหมายก่อนว่าจะเก็บน้ำตัวอย่างนี้ไปเพื่อวิเคราะห์หาค่าอะไรบ้าง เพื่อที่จะเก็บน้ำตัวอย่างให้มีปริมาณมากพอที่จะทำการวิเคราะห์ได้ตามต้องการ โดยทั่วไปแล้วควรเก็บน้ำตัวอย่างให้มีปริมาณอย่างน้อย 2 ลิตร สำหรับการวิเคราะห์น้ำเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมและ 4 ลิตรสำหรับน้ำดื่ม – น้ำใช้ 

การเก็บรักษาน้ำตัวอย่าง

- โดยทั่วไป ผลการตรวจวิเคราะห์น้ำตัวอย่างที่เชื่อถือได้คือ ผลวิเคราะห์ซึ่งเป็นตัวแทนคุณภาพน้ำที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่สุด จะต้องทำการตรวจวิเคราะห์น้ำตัวอย่างทันทีภายหลังเก็บน้ำตัวอย่างแล้ว ทั้งนี้เพราะเมื่อทิ้งน้ำตัวอย่างไว้ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงคุณภาพทั้งทางด้านเคมีและชีววิทยาตลอดเวลาภายหลังการเก็บ การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นช้า หรือเร็วขึ้นอยู่กับลักษณะของน้ำตัวอย่าง และสภาพการเก็บรักษาน้ำตัวอย่าง ควรเก็บน้ำตัวอย่างไว้ในที่ร่มเสมออย่าให้ถูกแดดได้

- วิธีการเก็บรักษาน้ำตัวอย่างโดยทั่วไป ทำได้โดยการควบคุมค่าความเป็นกรดด่าง (pH), การเติมสารเคมี, การแช่เย็น, และการแช่แข็ง ตัวอย่างเช่น การเติมกรดไนตริก (HNO3) ลงในน้ำตัวอย่างเพื่อป้องกันการแตกตัวของโลหะ เช่น เหล็ก, แมงกานีส แล้วแช่ขวดน้ำตัวอย่างในน้ำแข็ง ก่อนนำไปวิเคราะห์ เป็นต้น

การส่งน้ำตัวอย่างเข้าห้องปฏิบัติการ

- น้ำตัวอย่างเมื่อเก็บมาแล้วต้องรีบส่งเข้าห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจวิเคราะห์ทันทีแต่ถ้ามีการล่าช้าด้วยประการใดก็ตาม ควรเก็บตัวอย่างเหล่านี้ไว้ในห้องที่ควบคุมอุณหภูมิประมาณ 4 ํC เพื่อป้องกันการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ และเขียนฉลากติดไว้ที่ข้างขวด การเขียนฉลาก หลังจากเก็บน้ำตัวอย่างแล้วควร เขียนทันทีโดยระบุสิ่งต่างๆ ดังนี้

- แหล่งของน้ำตัวอย่าง เช่น จากบ่อบาดาลหมายเลข

- บ้าน หมู่ ตำบล อำเภอ จังหวัด

- วิธีการเก็บ (ใช้ปั๊มซับเมอร์สสูบขึ้นมา หรือ ใช้สูบมือโยกหรืออื่นๆ)

- วิธีการเก็บรักษา (เติมสารเคมีใดเพิ่มเติมหรือไม่ ปริมาณเท่าไร)

- วันที่ และเวลาที่เก็บน้ำตัวอย่าง

- ชื่อ และตำแหน่งของผู้เก็บตัวอย่างน้ำ

โดยปกติแล้วการตรวจวิเคราะห์ควรกระทำทันทีเพื่อมิให้สภาพน้ำที่เก็บมาเปลี่ยนแปลงไป ถ้าเป็นการตรวจวิเคราะห์ทางกายภาพ ควรทำในขณะที่เก็บหรือในทันทีที่ตัวอย่างถึงห้องทดลอง ระยะเวลาที่ยอมให้มากที่สุดที่จะเก็บน้ำตัวอย่างไว้เพื่อวิเคราะห์ทางกายภาพและ เคมี คือ 72 ชั่วโมง

การวิเคราะห์คุณภาพน้ำ

ขบวนการวิเคราะห์คุณภาพน้ำ ควรเป็นเรื่องของหน่วยงานที่ชำนาญการด้านนี้โดยเฉพาะ เช่น สถาบันการศึกษา เช่น คณะวิทยาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ หรือ คณะเทคโนโลยี ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ หน่วยงานของการประปา หรือศูนย์ปฏิบัติการเร่งรัดพัฒนาชนบทของ รพช.ซึ่งอยู่ในส่วนภูมิภาค เป็นต้น

การวิเคราะห์คุณภาพน้ำ สามารถแบ่งออกได้ตามคุณสมบัติของน้ำ 3 ประการ คือ

- คุณสมบัติทางกายภาพ ได้แก่ สี กลิ่น รส ความขุ่น และอุณหภูมิ

- คุณสมบัติทางเคมี ได้แก่ ความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำ ( pH ) , ความกระด้าง ( Total Hardness ) , ค่าความเป็นกรด ( Acidity ) , ค่าความเป็นด่าง ( Alkalinity ) , ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำทั้งหมด (Total Dissolved Solids), ซัลเฟต (Sulfates) คลอไรด์ (Chloride) เหล็ก ( Irons ) , แมงกานีส ( Manganese ) , สังกะสี ( Zinc )ทองแดง ( Copper ) ฯลฯ เป็นต้น

- คุณสมบัติทางด้านแบคทีเรีย ได้แก่ ค่าจำนวนโคลิฟอร์มต่อน้ำ 100 มิลลิลิตร หรือค่า MPN ( Most Probable Number ) เป็นต้น

การวิเคราะห์คุณภาพน้ำสำหรับน้ำบาดาล อาจไม่จำเป็นต้องทำการวิเคราะห์ทุกตัวอย่างที่ปรากฏในตารางที่ 1 ก็ได้ แต่อย่างน้อยต้องมีค่าต่างๆเหล่านี้

- ค่าความกระด้างทั้งหมด ( Total Hardness ) เพราะมีผลกระทบโดยตรงกับผู้ใช้

- ค่าคลอไรด์ ( Chloride ) เป็นดรรชนีชี้ความสกปรก หรือ ความเค็มของน้ำ

- ค่าเหล็ก ( Iron ) ถ้าเจอเหล็กในน้ำมักจะเจอแมงกานีสด้วย

- ค่าปริมาณของแข็งละลายน้ำทั้งหมด ( TDS ) หรือ ค่าความนำไฟฟ้า ( E. C. )

หากค่าคุณภาพน้ำเหล่านี้อยู่นอกเกณฑ์มาตรฐานมาก อาจไม่สามารถนำน้ำมาใช้ประโยชน์ได้ เพราะเสียค่าใช้จ่ายสูงในการทำให้มีคุณภาพดีขึ้น หรือ เกิดความเสียหายต่อวัสดุอุปกรณ์ เมื่อนำมาใช้ เป็นต้น