เมืองไทยเป็นเมืองร้อน แทบจะไม่มีวันไหนเลยที่เราไม่ทานเครื่องดื่มเย็นๆ สักแก้วเพื่อดับร้อน (เว้นแต่คุณจะอยู่ในห้องแอร์ตลอดทั้งเวลา) แต่น้ำแข็งที่เราทานอยู่ ก่อนที่จะมาใส่ในแก้วให้เราได้บริโภคกัน มันผ่านขั้นตอนต่างๆ มากมายจนทำให้เกิดการปนเปื้อน และทำให้เราป่วยได้หรือไม่
คุณเคยเห็นพ่อค้าแม่ค้าแช่อาหาร ทั้งเนื้อสัตว์ ผักผลไม้สด และเครื่องดื่มต่างๆ (ทั้งขวด) ลงไปในน้ำแข็ง แล้วใช้น้ำแข็งเหล่านั้นตักใส่แก้วเสิร์ฟให้ลูกค้าหรือไม่?
คุณเคยเห็นเด็กขนน้ำแข็งด้วยกระบุง ตะกร้า ที่ลากไปมาบนพื้นที่เต็มไปด้วยฝุ่นผง ควันรถ โคลน หรือสิ่งสกปรกอื่นๆ หรือไม่?
คุณเคยเห็นบริโภคน้ำแข็ง แล้วพบว่ามีกลิ่นแปลกๆ หรือเจอสิ่งแปลกปลอมในน้ำแข็ง เช่น พลาสติก เศษอาหาร ซากแมลงที่ตาย หรืออื่น หรือไม่?
ถ้าใช่ คุณอาจเสี่ยงได้รับจุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำแข็ง จนอาจทำร้ายสุขภาพได้
อันตรายจาก “น้ำแข็ง” ปนเปื้อน “จุลินทรีย์”
- ทำให้ท้องร่วง ท้องเสีย จากการปนเปื้อนของเชื้อโรคต่างๆ
- เสี่ยงติดพยาธิ จากการปนเปื้อนพยาธิ หรือไข่พยาธิที่มากับมูลสัตว์
- ปวดท้อง จากเชื้อแบคทีเรียที่มาจากน้ำดิบที่ใช้ผลิตทำน้ำแข็งที่ไม่ได้มาตรฐาน
- ติดโรคต่างๆ จากคนขนส่งน้ำแข็ง ที่แต่งตัวไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น ไอจามรดน้ำแข็ง เป็นต้น
น้ำแข็งที่สะอาด ปลอดภัย ต้องมีลักษณะดังนี้
- น้ำแข็งต้องใส สะอาด ไม่ขุ่น ไม่หมอง ไม่มีสิ่งแปลกปลอมเจอปน และไม่มีกลิ่น
- น้ำแข็งที่แบ่งบรรจุเพื่อจำหน่ายต้องมีภาชนะปกปิดมิดชิด ไม่เป็นสนิม ตั้งสูงจากพื้นอย่างน้อย 60 เซนติเมตร
- ไม่ควรวางน้ำแข็งอยู่บนพื้น ทางเท้าหรือใกล้ถังขยะ ภาชนะที่ใช้เก็บน้ำแข็งสามารถล้างทำความสะอาดได้ง่าย
- ไม่ใช้มือกอบน้ำแข็งเพื่อเสิร์ฟน้ำแข็งให้ลูกค้า หรือแม้กระทั่งการตักเพื่อนำไปประกอบอาหาร
- ห้ามนำอาหารหรือเครื่องดื่มมาแช่ในน้ำแข็งที่ใช้บริโภคโดยเด็ดขาด
เครดิค : https://www.sanook.com/health/13569/