23 07 62

1. ปัญหาทั่วไปของการเกิดภัยแล้ง(ขาดแคลนน้ำ)

ปัญหาการเกิดภัยแล้งหรือการขาดแคลนนั้น เกิดจากการไม่มีหรือขาดแคลนน้ำที่มีคุณภาพดี สำหรับใช้ในกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ การอุปโภค บริโภค การเกษตร การปศุสัตว์ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การอุตสาหกรรม การคมนาคมทางน้ำ เป็นต้น ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการดำรงชีพของประชาชน

2. สาเหตุทั่วไปของการเกิดภัยแล้ง(ขาดแคลนน้ำ)

อาจสรุปสาเหตุที่ทำให้เกิดภัยแล้งได้ดังนี้

2.1 การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อม โดยในฤดูฝน ฝนไม่ตกตามฤดูกาล ตกน้อย ทิ้งช่วง ไม่กระจายสม่ำเสมอ ทำให้มีน้ำเก็บกักในแหล่งน้ำน้อย น้ำและความชื้นในดินมีน้อย ในฤดูแล้งอากาศที่ร้อนจัดทำให้การสูญเสียน้ำจากการระเหยมีมาก ทำให้น้ำในแหล่งน้ำลดปริมาณลงจนถึงเหือดแห้งไป

2.2 ความต้องการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้น จากจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ความต้องการปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพและการใช้ทรัพยากรจึงมีมาก ความต้องการน้ำเพื่อกิจกรรมต่างๆ จึงมีมากตามไปด้วย ในขณะที่แหล่งเก็บกักน้ำมีจำกัดไม่เพิ่มขึ้นสัมพันธ์กัน

2.3 แหล่งเก็บกักน้ำตามธรรมชาติและที่สร้างขึ้น มีน้อยไม่เพียงพอต่อการเก็บกักน้ำไว้ใช้ประโยชน์ ซึ่งอาจเกิดจาก ข้อจำกัดของภูมิประเทศที่ไม่มีลำน้ำธรรมชาติ หรือไม่เหมาะสมที่จะพัฒนาเป็นแหล่งน้ำ หรือแหล่งน้ำได้รับการพัฒนาที่ไม่เหมาะสม มีขนาดเล็กเกินไป ใช้ประโยชน์ได้ไม่เพียงพอ

2.4 แหล่งเก็บกักน้ำตามธรรมชาติและที่สร้างขึ้นเสื่อมสภาพ ตื้นเขิน ชำรุด ทำให้มีประสิทธิภาพต่ำ เก็บกักน้ำไว้ได้น้อยจนถึงไม่สามารถเก็บกักน้ำไว้ได้  

การรองน้ำฝนจากหลังคาบ้านเพื่อเก็บเอาไว้ใช้อุปโภคบริโภคไม่สามารถทำได้ เพราะแร่ใยหินที่ใช้ผลิตกระเบื้องมุงหลังคาเป็นสารก่อมะเร็ง อีกทั้งในเขตเมืองก็จะมีฝุ่นควันจากเครื่องยนต์รถมาก

2.5 การทำลายป่าต้นน้ำลำธาร ทำให้ไม่มีต้นไม้ที่ทำหน้าที่ดูดซับน้ำฝนลงสู่ใต้ผิวดิน อุ้มน้ำเอาไว้ และยึดดินให้มีความมั่นคง ก็จะขาดแคลนน้ำที่จะถูกปลดปล่อยออกมาสู่ลำธารและลำน้ำในช่วงฤดูแล้ง

2.6 คุณภาพน้ำไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น น้ำเค็ม น้ำขุ่น เป็นสนิม สกปรก หรือเน่าเสีย

2.7 การขาดจิตสำนึกในการใช้น้ำและการอนุรักษ์น้ำ  เช่นใช้น้ำไม่ประหยัด ใช้น้ำอย่างไม่ถูกต้องเหมาะสม  การบุกรุกทำลายแหล่งน้ำ ที่พบบ่อย ๆ คือ การลงจับปลาในแหล่งน้ำทำให้น้ำขุ่น หรือถ้าหากระบายน้ำออกเพื่อจับปลา ก็จะไม่มีน้ำเหลืออยู่อีกต่อไป

2.8 การวางผังเมืองไม่เหมาะสม โดยแบ่งแยกพื้นที่เพื่อการทำกิจกรรมไม่เหมาะสมสอดคล้องกับแหล่งน้ำที่จะนำมาใช้ประโยชน์ ขาดการวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำที่เหมาะสมไว้ล่วงหน้า

2.9 การบริหารจัดการน้ำ ถ้าเกิดความผิดพลาดในการพร่องน้ำระบายน้ำ ทำให้มีน้ำเหลือเก็บกักไว้น้อย

2.10 การพัฒนาแหล่งน้ำที่ไม่เหมาะสม โดยในระยะเวลาช่วงต้นๆ ของการพัฒนาแหล่งน้ำ อาจเน้นเรื่องการเร่งรัดการพัฒนามากเกินไป โดยต้องการสร้างจำนวนที่มาก ใช้งบประมาณน้อยๆ เสร็จเร็วๆ  เป็นการเน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ ทำให้มีแหล่งน้ำจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ เช่น ขนาดเล็กเกินไปเก็บกักน้ำได้น้อย บางแห่งอยู่ไกลจากแหล่งชุมชนเกินไป

นอกจากนี้ปัญหาสำคัญที่พบจากการพัฒนาแหล่งน้ำคือ การก่อสร้างฝายแล้วไม่สร้างประตูระบายทรายไว้ด้วย ทำให้มีตะกอนตกจมด้านหน้าฝายมาก อีกทั้งทำให้ไม่สามารถระบายน้ำจากโครงการชลประทานขนาดใหญ่หรือขนาดกลาง ลงไปช่วยพื้นที่ตอนล่างที่อยู่ไกลออกไปที่มีฝายปิดกั้นลำน้ำอยู่เป็นระยะๆได้  เพราะจะต้องระบายน้ำลงไปในปริมาณมาก เพื่อให้ล้นข้ามสันฝายที่มีระดับสูงออกไป เกิดการสูญเสียจากการระเหยรั่วซึม และการไหลบ่าแตกทุ่งออกไปปริมาณสูง ซึ่งหากมีประตูระบายทรายก็จะระบายน้ำลงไปช่วยเหลือปริมาณน้อยๆ ไม่ต้องให้มีน้ำเต็มลำน้ำเพราะเปิดประตูระบายทรายได้

เครดิค : http://ridceo.rid.go.th/buriram/drought_problem.html