นายจอห์น สทอสเซล ได้สำรวจการบริโภคในตลาดน้ำดื่มพบว่า ส่วนแบ่งการตลาดส่วนใหญ่ตกอยู่กับน้ำดื่มขวดยี่ห้อดัง เช่น เพอริเออ และเอเวียง เป็นต้น โดยบริษัทที่ผลิตน้ำขวดทั้งสองยี่ห้อต่างพยายามดำเนินนโยบายทางการตลาดด้วยการพยายามชี้นำผู้บริโภคให้เชื่อว่า การซื้อน้ำขวดเป็นสิ่งที่ดี จนทำให้ปัจจุบันน้ำขวดอย่างเอเวียงกลายเป็นยี่ห้อประจำประเทศฝรั่งเศสไปแล้ว ทั้งๆที่มีราคาแพงมากถึง 5 ดอลลาร์ต่อแกลลอน แต่ก็ยังมีประชาชนจำนวนมากยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อ และถึงจะไม่ซื้อยี่ห้อเอเวียง บรรดานักดื่มก็จะไปซื้อน้ำขวดยี่ห้ออื่นอยู่ดี ทำให้มีเงินสะพัดในอุตสาหกรรมน้ำขวดกว่าพันล้านดอลลาร์
ผู้สำรวจได้มีโอกาสสัมภาษณ์ประชาชนในนครนิวยอร์กเกี่ยวกับการบริโภคน้ำขวด พบว่าส่วนใหญ่เลือกที่จะบริโภคน้ำขวด โดยให้เหตุผลว่ามีรสชาติที่ดีกว่า ยิ่งไปกว่านั้นพวกเขามั่นใจว่าน้ำขวดมีความปลอดภัยมากกว่าน้ำประปา จนบางครั้งมีการกล่าวกันว่าน้ำขวดสะอาด ปลอดภัย และมีประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่าน้ำประปา ซึ่งทั้งหมดเป็นเพียงคำโฆษณาที่ยกย่องสรรพคุณของน้ำขวด จนส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของน้ำประปาทำให้ถูกมองว่าดื่มน้ำประปาไม่ปลอดภัย ซึ่งไม่เป็นความจริงเลย
ผู้สำรวจได้มีโอกาสไปสังเกตการณ์การทดสอบระหว่างน้ำขวดและน้ำประปา โดยใช้ตัวอย่างน้ำขวดจาก 5 ยี่ห้อดัง และน้ำประปาจากจุดจ่ายกลางนครนิวยอร์ก ส่งไปให้นักจุลชีววิทยา แอรอน มาร์โกลิน ทำการวิเคราะห์หาแบคทีเรียพบว่า ไม่มีความแตกต่างระหว่างตัวอย่างน้ำทั้ง 2 กลุ่ม ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการวิเคราะห์เปรียบเทียบของน้ำทั้ง 2 กลุ่ม โดยนักวิทยาศาสตร์อีกหลายท่าน ซึ่งก็ให้ผลไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้ยืนยันได้ว่าน้ำประปาดีเทียบเท่าน้ำขวด แม้แต่สมาชิกสมาคมน้ำบรรจุขวดนานาชาติอย่าง ดร. สตีเฟน เอดเบิร์ก ก็ได้ให้ความเห็นว่า เป็นการยากที่จะบอกว่าน้ำขวดหรือน้ำประปา สิ่งใดจะปลอดภัยหรือมีประโยชน์มากกว่ากัน เพราะถึงที่สุดน้ำทั้งสองก็คือ น้ำมีคุณภาพเหมือนกัน
สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะมีผลต่อการเลือกบริโภคน้ำขวด คือ สัญลักษณ์บนฉลาก เพราะสิ่งนี้เป็นสิ่งแรกที่ผู้บริโภคเลือกที่จะพิจารณา โดยทั่วไปมักจะเป็นสถานที่ที่ทุกคนรู้จักอย่างเช่น ยอดเขา และธารน้ำแข็ง เป็นต้น อย่างไรก็ตามสิ่งนี้เป็นเพียงสัญลักษณ์ โดยที่น้ำในขวดมิได้มากจากแหล่งที่ปรากฏบนฉลากจริงๆ
ผู้สำรวจได้มีโอกาสไปสังเกตการณ์ทดสอบบลายส์เทส (bind taste tese) โดยเป็นการทดสอบรสชาติระหว่างน้ำประปาในนครนิวยอร์กกับน้ำขวด 5 ยี่ห้อดัง และผู้รับการทดสอบส่วนใหญ่เป็นนักดื่มน้ำขวดตัวยง ระดับรสชาติจะบันทึกผลเป็น 3 ระดับได้แก่ แย่ ปานกลาง และดี ซึ่งผลการทดสอบกลับกลายเป็นว่าน้ำประปามีรสชาติดีผิดไปจากที่ผู้ทดสอบบางคนปรามาสไว้ตอนแรก จากผลที่เกิดขึ้นเมื่อน้ำทั้ง 2 กลุ่มมีรสชาติเทียบเท่ากัน แต่ประชาชนกลับเลือกที่จะไปบริโภคน้ำขวดมากกว่า ซึ่งผู้สำรวจได้ให้ความเห็นว่าน่าจะเป็นเพราะการตลาดและโฆษณานั่นเอง
ท้ายที่สุดถ้าคุณจะซื้อน้ำขวดเพียงเพราะคุณคิดว่า น้ำขวดมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่าน้ำประปา ก็เท่ากับว่าคุณกำลังถูกผู้ผลิตหลอกแล้ว
ข้อมูลเพิ่มเติม: http://202.129.59.73/tn/Oct55/bottle%20water.htm