ในปัจจุบันนี้แหล่งน้ำผิวดิน และแหล่งน้ำใต้ดินได้รับการปนเปื้อนจากสิ่งสกปรกและสารเคมีต่างๆ อย่างมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าขาดผู้ดูแล หรือเฝ้าระวัง จะเกิดการลักลอบปล่อยสิ่งสกปรกลงสู่แหล่งน้ำต่างๆ อยู่เสมอ ดังที่เป็นข่าวปรากฏตามสื่อต่างๆ

การเกิดปัญหามลพิษปนเปื้อนกับแหล่งน้ำ ทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงและกว้างขวาง ทั้งคน สัตว์เลี้ยง สิ่งแวดล้อม และผู้ใช้ทรัพยากรจากแหล่งน้ำทุกประเภท ดังนั้นพวกเราทุกคน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์การบริหารส่วนตำบล ควรเพิ่มกิจกรรมดูแลและเฝ้าระวังแหล่งน้ำอย่างจริงจังและเข้มงวด เราพอจะแยกสาเหตุของมลพิษที่เกิดกับแหล่งน้ำตามสภาพการเกิดได้ดังนี้

1. มลพิษจากภาคอุตสาหกรรมและการพาณิชย์

ความสกปรกของแหล่งน้ำผิวดิน และแหล่งน้ำใต้ดินอันเนื่องจากความไม่เอาใจใส่ ความละเลย และความเห็นแก่ได้ ทำให้แหล่งน้ำต่างๆ เมื่อจะนำมาใช้ ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ในการบำบัดให้เป็นน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคและบริโภค

แหล่งน้ำใต้ดินเราอาจจะคิดว่าไม่สกปรกและปราศจากสารพิษ เพราะเห็นว่ามีการซึมไหลผ่านชั้นดิน แต่ถ้าไม่ดูแล และรักษาให้ดีน้ำใต้ดินอาจจะสกปรกและมีสารพิษ เช่นเดียวกับน้ำผิวดิน

ปัญหามลพิษส่วนใหญ่มักจะเกิดจากสาเหตุสำคัญ 2 ประการคือ

- การซึมลงดินของมลพิษและน้ำสกปรก จะสามารถทำลายชั้นน้ำใต้ดิน หากมีการซึมลงสู่ชั้นให้น้ำหรือซึมผ่านชั้นให้น้ำ ไม่ว่าจะเป็นแบบเปิดหรือแบบปิด จะทำให้ชั้นให้น้ำเกิดความสกปรกเน่าเสีย อาจเป็นอันตรายต่อผู้ที่นำน้ำไปอุปโภค บริโภคได้ ถ้ามีการปนเปื้อนมากๆ อาจไม่สามารถนำน้ำไปใช้ประโยชน์ได้เลย

- การไหลของสิ่งสกปรก และมลพิษสู่แหล่งน้ำโดยตรง เช่น สารเคมีที่ใช้ในการเกษตร มูลสัตว์ ขยะ และสิ่งปฏิกูลต่างๆ ที่เก็บหรือทำลายไม่ถูกวิธี เมื่อมีฝนตกจะถูกน้ำฝนชะล้างลงสู่แม่น้ำลำคลอง และ และแหล่งน้ำต่างๆ ที่เราสร้างขึ้นเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ นอกจากนั้นยังมีโรงงานและผู้ที่ขาดความรับผิดชอบแอบปล่อยน้ำ และของเสียลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติอยู่เสมอ ในอนาคตแหล่งน้ำที่มีอยู่อาจปนเปื้อนด้วยสิ่งสกปรก และสารพิษต่างๆ จนไม่มีน้ำสะอาดเหลือเพียงพอที่จะนำมาใช้อุปโภค บริโภคในชีวิตประจำวัน

แนวทางการแก้ไข

1. ควรยับยั้งการซึมลงดินของมลพิษและน้ำสกปรกในบริเวณต่างๆ โดยออกเป็นกฎและปฏิบัติให้จริงจังเป็นทางการ

2. หยุดก่อมลพิษในบริเวณแหล่งน้ำ (ซึ่งขึ้นอยู่กับตัวของเราเอง) และเฝ้าระวัง รวมทั้งให้ความสำคัญกับปัญหามลพิษอย่างจริงจัง

2. มลพิษจากแหล่งชุมชน

กิจกรรมและสาเหตุที่ทำให้แหล่งน้ำเป็นพิษและสกปรก

- การถมที่ของชุมชน และอุตสาหกรรม ทำให้มีโลหะหนักต่างๆ ที่ปนมากับดิน – หิน เช่น คลอไรด์ โซเดียม , แคลเซียม และส่วนประกอบของสารอินทรีย์ และ อนินทรีย์หลายๆ ชนิด

- การหกและไหลล้นของน้ำมันและสารเคมี แล้วซึมลงสู่แหล่งน้ำ (เช่น น้ำมัน 1 ลิตร สามารถทำให้น้ำ 10,000 ลิตร บริโภคไม่ได้)

- บ่อเกรอะจะมีสารประกอบอินทรีย์เช่น ไนเตรท ซัลเฟต โซเดียม และจุลินทรีย์ที่เป็นอันตราย

- กิจกรรมเพื่อการเกษตร ทำให้มีไนเตรท ยาฆ่าแมลง และยาปราบศัตรูพืช , วัชพืช สะสมในแหล่งน้ำผิวดิน และใต้ดิน

- ของเสียที่มีกัมมันตภาพรังสี กัมมันตภาพรังสีจากสตรอนเทียม ไตรเดียมและอื่นๆ มักแพร่กระจายในแหล่งน้ำใต้ดิน เนื่องจากการทิ้ง หรือ แอบขุดฝังขยะกัมมันตภาพรังสี ซึ่งจะพบมากในพื้นที่ใกล้เขตส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่ขาดการควบคุมดูแล

มลพิษของแหล่งน้ำในชนบท

มลพิษของแหล่งน้ำในชนบทมักเกิดจาก

- การรั่วซึมของท่อน้ำโสโครก ทำให้มีน้ำสกปรกปนเปื้อนในแหล่งน้ำผิวดินและใต้ดิน

- การรั่วซึมของบ่อน้ำบาดาล

- บ่อน้ำตื้นที่เปิดไว้ หรือการยารอยต่อของบ่อไม่ดี อาจได้รับมลพิษจากสิ่งสกปรกหรือมูลสัตว์

- การทิ้งของเสียที่เป็นพิษร้ายแรง ทำให้มีโลหะหนัก เช่น โครเมี่ยม ปรอท ตะกั่ว และสารเคมีบางชนิดที่มีพิษ เช่น ยาฆ่าแมลง, ยาปราบศัตรูพืช ซึมลงดิน แล้วปนเปื้อนลงในแหล่งน้ำ

- การใช้ปุ๋ยในการทำเกษตรกรรมมากเกินไป

การสร้างบ่อน้ำตื้น และบ่อน้ำบาดาลให้ได้มาตรฐาน ซึ่งมีการป้องกันการปนเปื้อนจากน้ำสกปรกและมลพิษไว้อย่างดี จะทำให้เราได้น้ำสะอาดไว้บริโภคเป็นเวลาหลายสิบปี ดังนั้นควรถือว่าการป้องกันบ่อเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด