1. ข้อเท็จจริง

การก่อสร้างบ่อเลี้ยงปลาสวยงามกลางแจ้งนั้น เจ้าของบ่อต้องทำใจไว้ก่อนเลยว่าน้ำในบ่อจะไม่ใส และสะอาด อย่างที่คิด ตลอดเวลา ทั้งนี้เพราะ

1. เมื่อน้ำสัมผัสกับแดดโดยตรง จะทำให้ตะไคร่น้ำ หรือ สาหร่ายสามารถเจริญเติบโตได้ดี ทำให้น้ำมีสีเขียว มีฟอง มีเศษตะไคร่น้ำหลุดลอยไปมาได้ ทั้งนี้เพราะ ทั้งสาหร่ายและตะไคร่น้ำ ใช้แสงแดดเพื่อสังเคราะห์แสงสร้างการเจริญเติบโต

2. ประเทศไทยเราเป็นประเทศที่อยู่ในเขตร้อน- ชื้น มีจุลชีพ และ สิ่งมีชีวิตเล็กๆในอากาศมากมาย พร้อมที่จะเจริญเติบโตได้ดีเมื่ออยู่ในสภาพที่เหมาะสม เช่นในบ่อน้ำกลางแจ้ง เป็นต้น ดังนั้นจึงเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะมีตะไคร่น้ำเจริญเติบโตในบ่อกลางแจ้ง จนทำให้น้ำเขียว ดูไม่สะอาด และไม่สวยงาม

3. ประเทศไทยเรามีฝุ่นละอองในอากาศมาก รวมทั้งเศษสิ่งสกปรกต่างๆที่อาจปลิวมากับลม ดังนั้นบ่อเลี้ยงปลาส่วนมาก จะมีเศษฝุ่นผง แมลง หรือ ใบไม้ลอยอยู่เหนือผิวน้ำ ซึ่งยิ่งทำให้บ่อดูสกปรกขึ้นไปอีก

2. คำแนะนำ

เพื่อลดปัญหาตามข้อ 1 – 3 จึงมีคำแนะนำให้ท่านที่ต้องการสร้างบ่อเลี้ยงปลากลางแจ้ง หรือ มีอยู่แล้ว นำไปประยุกต์ใช้ ซึ่งจะช่วยให้ บ่อเลี้ยงปลาสวยงามของท่าน มีความสะอาด มองเห็นปลาได้ชัดเจน น่าดู

2.1 สำหรับบ่อปลาสวยงามที่กำลังจะสร้าง มีคำแนะนำดังนี้

2.1.1 ออกแบบให้บ่อเลี้ยงปลาถูกแสงแดดตรงๆให้น้อยที่สุด (ไม่ควรเกิน 3 ชั่วโมงต่อวัน) โดยออกแบบ ให้มีอาคารบัง หรือมี Slan คลุม หรือ อยู่ในร่มตลอดเวลาก็ได้

2.1.2 บ่อปลาต้องประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังนี้

2.1.2.1 บ่อปลา มีขนาดและรูปร่างตามต้องการ วัสดุที่ใช้ก่อสร้างบ่อจะเป็นคอนกรีต หรือ พลาสติคก็ ได้ แต่ต้องมีการป้องกันการรั่วซึมให้ดี นอกจากนี้ถ้าบ่อปลามีขนาดใหญ่ต้องพิจารณาระบบ ฐานรากที่จะรับน้ำหนักทั้งหมดของบ่อด้วย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการทรุดตัวและแตกร้าว ภายหลัง

2.1.2.2 บ่อกรองต้องมีพื้นที่ (หรือปริมาตร)ไม่น้อยกว่า 25 % ของพื้นที่ (หรือปริมาตร) ทั้งหมดใน บ่อกรอง ใช้วัสดุกรองตามมาตรฐานทั่วไป เช่น มีปะการัง – เปลือกหอยขนาดเล็ก รวมทั้ง ผ้ากรองหรือฟองน้ำรองรับท่อรวมน้ำ

2.1.2.3 บ่อสำรองน้ำ (ทำหน้าที่สำรองน้ำให้เครื่องสูบน้ำ นำน้ำส่งกลับไปที่สระ) ควรมีปริมาตร อย่างน้อย 5 % ของปริมาตรน้ำในสระ หรือ เพียงพ่อต่อการสูบน้ำอย่างน้อย 10 นาที

2.1.2.4 ระบบท่อซึ่งประกอบด้วย - ท่อส่งน้ำเข้าสระและหัวจ่ายน้ำเข้าสระ (Inlet) ซึ่งต้องติด Injector หรือ ตัวดูดอากาศไว้ ด้วย นอกจากนี้ ต้องมีจำนวนหัวจ่ายน้ำมากพอที่จะผลักให้น้ำมีการเคลื่อนตัวไปยัง ขอบบ่อด้านที่น้ำล้น - ท่อหรือรางรับน้ำที่ล้นจากสระ เพื่อส่งเข้าบ่อกรอง - ท่อสูบน้ำที่ก้นสระ (Drain)

2.1.2.5 ทั้งบ่อกรอง และ บ่อสำรองน้ำ ต้องมีท่อน้ำล้น 2.1.3 ออกแบบบ่อเป็นระบบน้ำล้น (หรือมีท่อน้ำล้นหลายๆจุด) เพื่อให้มีการเคลื่อนไหวของน้ำตลอดเวลา เพื่อให้มีการเติมออกซิเจนตามธรรมชาติ และ เพื่อกำจัดฝุ่น – ผง – แมลง ให้ออกไปจากสระ

2.1.4 พื้นบ่อต้องมีลักษณะลาดลง เพื่อให้ตะกอนสิ่งสกปรกมารวมกัน ทำให้ง่ายในการกำจัดออกจากบ่อ

2.1.5 ที่ก้นบ่อต้องมีท่อระบายน้ำ เพื่อสูบระบายน้ำออกจากสระ หรือ เพื่อการหมุนเวียนน้ำ

2.1.6 ใช้เครื่องสูบน้ำแบบจมน้ำ (Submersible pump) หรือ ที่นิยมเรียกว่า “ปั๊มไดรโว่” ที่ใช้สำหรับการแช่ น้ำตลอดเวลา (ต้องมีระดับการป้องกันมอเตอร์ เป็น IP68) เครื่องสูบน้ำควรเลือกแบบมีสวิตช์ลูกลอย ติดตั้งในตัว เพื่อป้องกันการสูบโดยไม่มีน้ำ เครื่องสูบน้ำต้องความสามารถสูบน้ำในบ่อปลาได้หมด ในเวลา 2 – 5 ชม.ที่แรงดันประมาณ 10 เมตร โดยติดตั้งเครื่องสูบในบ่อสำรองน้ำ

2.1.7 เดินเครื่องสูบน้ำทุกวัน วันละไม่น้อยกว่า 18 ชั่วโมง มิฉะนั้นออกซิเจนในน้ำอาจน้อยเกินไป ทำให้ ปลาไม่แข็งแรง และ ไม่เติบโตอย่างที่ควรจะเป็น หรือ บางครั้งปลาตายเพราะขาดออกซิเจน

2.1.8 ต้องเปลี่ยนน้ำในบ่อ (ถ้าเป็นไปได้เอาน้ำที่ก้นบ่อออก) 20 – 25 % ทุกๆ 15 วัน

2.1.9 ปริมาณอาหารของปลา ต้องไม่มากเกินไป เพราะ อาหารปลา จะเป็นตัวเร่งให้น้ำเสียเร็วยิ่งขึ้น นอก จากนี้ อาหารปลายังเป็นอาหารของตะไคร่น้ำอีกด้วย

2.1.10 ล้างบ่อกรองทุกๆ 30 วัน หรือ เมื่อเกิดการอุดตันมาก โดยสังเกตจากระดับน้ำในบ่อกรองกับบ่อ สำรองน้ำหากต่างกันมากแสดงว่าเกิดการอุดตันที่บ่อกรอง

2.2 สำหรับบ่อปลาสวยงามที่สร้างไปแล้ว และ มีปัญหา มีคำแนะนำดังนี้

2.2.1 หา Slan หรือ วัสดุมาคลุมบ่อปลาเพื่อควบคุมปริมาณแสงแดด

2.2.2 ปรับปรุง บ่อปลา บ่อกรอง และ ระบบหมุนเวียนน้ำให้เป็นไปตามคำแนะนำในข้อ 2.1.2 ถึง 2.1.7

2.2.3 ต้องเปลี่ยนน้ำในบ่อ (ถ้าเป็นไปได้เอาน้ำที่ก้นบ่อออก) 20 – 25 % ทุกๆ 15 วัน

2.2.4 ปริมาณอาหารของปลา ต้องไม่มากเกินไป ด้วยเหตุผลที่ได้อธิบายไปแล้ว

2.2.5 ล้างบ่อกรองทุกๆ 30 วัน หรือ เมื่อเกิดการอุดตันมาก โดยสังเกตจากระดับน้ำในบ่อกรองกับบ่อ สำรองน้ำหากต่างกันมากแสดงว่าเกิดการอุดตันที่บ่อกรอง

3. บทสรุป

ถึงแม้ บ่อเลี้ยงปลาสวยงาม จะมีการออกแบบและก่อสร้างมาอย่างดีก็ตาม แต่หัวใจสำคัญจริงๆ คือการไม่ให้บ่อเลี้ยงปลาถูกแสงแดดตรงๆเกิน 3 ชั่วโมง และการบำรุงรักษาอย่างถูกวิธี ต่อเนื่อง และสม่ำเสมอเป็นประจำ ซึ่งได้แนะนำไว้แล้วในข้อ 2.1.7 ถึง 2.1.10 นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายประการที่ผู้เลี้ยงปลาหรือเจ้าของบ่อปลาต้องเรียนรู้และทดลองศึกษาด้วยตนเอง เพื่อได้วิธีปฏิบัติที่เหมาะสม เพื่อให้บ่อเลี้ยงปลาของท่านสวยงาม ให้ความสุข ความสบายใจ อย่างที่คาดหวังไว้