สระว่ายน้ำในบ้านเป็นความใฝ่ฝันหนึ่งสำหรับคนมีบ้าน แต่เมื่อมีสระว่ายน้ำแล้วก็ต้องดูแลรักษาอยู่เสมอ วิธีดูแลสระว่ายน้ำในบ้านให้ใสแจ๋วน่าใช้ต้องทำอย่างไร เรามีเทคนิคมาฝาก
อากาศอย่างบ้านเราที่เหมือนจะมีแต่หน้าร้อน กับหน้าร้อนมาก ดูจะเหมาะกับกิจกรรมว่ายน้ำเป็นพิเศษนะคะ เมื่อไรที่อากาศร้อนอบอ้าวขึ้นมา ก็กระโดดลงไปว่ายน้ำในสระว่ายน้ำที่บ้านให้ฉ่ำชื่นสุด ๆ ไปเลย แต่สำหรับบ้านไหนที่มีสระน้ำส่วนตัวอยู่แล้ว เรื่องการดูแลรักษาสระว่ายน้ำภายในบ้านก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามเหมือนกัน เพราะหากเผลอละเลยสระว่ายน้ำ จนสระว่ายน้ำกลายเป็นแอ่งน้ำที่มีแต่เศษใบไม้ ฝุ่น และคราบสกปรก แบบนี้คงไม่น่าลงไปว่ายน้ำเท่าไรแน่ ๆ ฉะนั้นวันนี้เราเลยขอนำเคล็ดลับดูแลสระว่ายน้ำให้แจ่มว้าว น่ากระโดดลงไปว่ายเพิ่มความชุ่มฉ่ำมาให้ลองทำตามกันค่ะ
1. เปิดใช้งานให้ถูกจังหวะเวลา
สระว่ายน้ำส่วนใหญ่มักจะอยู่กลางแจ้ง ซึ่งก็คงหนีไม่พ้นฝุ่น และเศษใบไม้ใบหญ้าที่ติดมากับสายลมแน่นอน ดังนั้นคงดีกว่าถ้าเราจะคลุมผ้าใบปิดสระน้ำไว้ในคราวที่มีมรสุม หรือเข้าสู่ฤดูที่มีความเสี่ยงจะกระทบกับสระว่ายน้ำของเรามากที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำฝน ฝุ่น และเศษสกปรกที่ปลิวมากับสายลมแรง ๆ ตกลงมาในสระว่ายน้ำจนน้ำสกปรก กระทั่งเข้าฤดูที่ท้องฟ้าแจ่มใส ลมเอื่อย ๆ ปลอดภัยต่อความสะอาดของสระว่ายน้ำ ก็ค่อยเปิดผ้าที่คลุมสระน้ำเอาไว้ โดยก่อนเปิดผ้าคลุมควรทำความสะอาดพื้นที่รอบ ๆ สระให้หมดจดก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้มีเศษสกปรกที่เกลื่อนกลาดอยู่แถวนั้นกระเด็นลงสระได้
แต่ในกรณีที่คุณระบายน้ำในสระออกไปก่อนจะคลุมสระ ควรตรวจสอบท่อน้ำทิ้ง และทำความสะอาดสระว่ายน้ำให้หมดจดพร้อมใช้งาน พร้อมทั้งต่อท่อและระบบไหลเวียนน้ำที่ถูกตัดขาดไปก่อนหน้านี้ด้วย หลังจากนั้นก็วัดระดับค่า pH ของน้ำให้เหมาะสม โดยขั้นตอนนี้ควรเปิดน้ำให้ไหลเวียนอยู่ในสระตลอด 24 ชั่วโมง นานติดต่อกัน 1-2 วันจนกว่าน้ำจะเต็มสระ และเซตค่า pH ของน้ำได้คงที่พร้อมให้สมาชิกทุกคนในบ้านลงไปว่ายเล่นให้ชื่นใจซะก่อน
2. ตรวจสอบการรั่วไหลสระว่ายน้ำ
เป็นเรื่องปกติที่ระดับน้ำในสระจะลดลงเพราะถูกแสงแดดและอากาศทำให้ระเหยไป แต่เราเองก็ควรสังเกตระดับน้ำที่ลดลงด้วย หากระดับน้ำในสระลดฮวบฮาบผิดปกติ อาจเป็นไปได้ว่าสระน้ำจะเกิดอาการรั่วไหล ดังนั้นก็ควรรีบตรวจสอบ โดยเติมน้ำลงในกะละมัง (แบบไร้หูหิ้วด้วยยิ่งดี) พร้อมกันนั้นก็ขีดทำเครื่องหมายวัดระดับน้ำทั้งด้านในและด้านนอกกะละมัง แล้วนำไปลอยในสระ ปล่อยทิ้งไว้สัก 2-3 วัน จึงค่อยมาดูระดับน้ำอีกครั้ง หากระดับน้ำในกะละมังและในสระลดลงไปในระดับเท่า ๆ กัน แสดงว่าน้ำในสระลดลงเพราะระเหยออกไป ไม่ได้เกิดอาการรั่วแต่อย่างใด ทว่าหากระดับน้ำในสระลดน้อยลงกว่าระดับน้ำในกะละมัง แสดงว่าสระน้ำมีรูรั่วเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ฉะนั้นควรถ่ายน้ำออก แล้วตรวจสอบรอยรั่วโดยด่วนที่สุด
3. ซูเปอร์คลอรีน
หากสระว่ายน้ำที่บ้านฉุนกลิ่นคลอรีนแรงมาก อย่างนี้ต้องปฏิบัติการซูเปอร์คลอรีน หรือการเติมคลอรีนลงในสระเกินปกติ 2-3 เท่าโดยประมาณ เพื่อทำการช็อกคลอรีน เพื่อกำจัดแอมโมเนียและสารปนเปื้อนที่อยู่ในสระน้ำ รวมทั้งตะใคร่น้ำที่ตกค้างอยู่ในสระว่ายน้ำ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นตัวการที่ทำให้สระว่ายน้ำมีกลิ่นไม่พึงประสงค์นั่นเอง
4. วัดระดับค่า pH น้ำในสระเสมอ
ระดับค่า pH ที่เหมาะสมของน้ำในสระควรอยู่ระหว่าง 7.2-7.8 ถึงจะสะอาดและปลอดภัยสำหรับผู้ใช้สระ ดังนั้นคุณก็ไม่ควรมองข้ามค่า pH ของน้ำในสระเด็ดขาด หรือถ้าจะให้ดีควรตรวจเช็กค่า pH น้ำเป็นประจำทุกสัปดาห์ หรือช่วงที่มีคนเล่นน้ำเยอะ สังเกตเห็นว่าน้ำเปลี่ยนสี โดยสามารถใช้เครื่องมือตรวจสอบค่า pH ของน้ำที่มีจำหน่ายทั่วไปได้เลย (ราคาประมาณ 1,000-2,000 บาท)
5. ระดับน้ำในสระต้องไม่ต่ำกว่าระดับสกิมเมอร์
สำหรับสระน้ำระบบสกิมเมอร์ ที่มีช่องกรองเศษสกปรกบนผิวน้ำ และคอยดูดน้ำให้ไหลวนภายในสระต้องหมั่นเช็กระดับน้ำในสระให้ไม่ต่ำกว่าระดับสกิมเมอร์เพราะหากระดับน้ำต่ำกว่าสกิมเมอร์ มีความเป็นไปได้สูงว่าปั๊มน้ำอาจชำรุดเสียหาย จึงไม่สามารถดูดน้ำเข้าสระได้ตามปกติ
6. ดูแลสภาพการใช้งานของฮีทปั๊ม
ฮีทปั๊มในสระว่ายน้ำจะช่วยปรับอุณหภูมิให้น้ำในสระมีความพอดีกับอุณหภูมิในร่างกายเรา ซึ่งตัวฮีทปั๊มเองก็ต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดด้วย โดยควรตรวจเช็กสภาพการใช้งานของฮีทปั๊มเป็นประจำทุกปี หรือเมื่อสังเกตได้อย่างชัดเจนว่าอุณหภูมิของน้ำมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก ควรให้ช่างเข้ามาตรวจเช็กสภาพการใช้งานโดยด่วน
7. ทำความสะอาดเครื่องกรอง
เครื่องกรองที่ใช้ในสระว่ายน้ำมีอยู่ด้วยกัน 3 ระบบ ซึ่งก็คือ ระบบกรองผ้าด้วยผงกรอง, ระบบกรองทราย และระบบกรองแบบกระดาษ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นระบบแบบไหน ก็ควรตรวจสอบสภาพการใช้งานของเครื่องกรอง พร้อมทั้งทำความสะอาดของเครื่องกรองตามวิธีทำความสะอาดของชนิดเครื่องกรองของแต่ละระบบอยู่เสมอ เพื่อรักษาความใสสะอาดของน้ำให้น่าว่ายน้ำเล่นอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้ควรเดินเครื่องกรองอย่างน้อยวันละ 12 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ หรือหากวันไหนมีคนลงเล่นน้ำมากเกินปกติ ก็ควรเดินเครื่องกรองน้ำนานขึ้นตามไปด้วย
8. ขัดถูกระเบื้องสระวายน้ำทุกสัปดาห์
กระเบื้องและผนังสระว่ายน้ำ หากไม่ได้รับการดูแลอย่างสม่ำเสมอก็คงจะมีตะใคร่น้ำเกาะอยู่เต็มไปหมด ซึ่งนอกจากจะทำให้สระว่ายน้ำสกปรกแล้ว ยังอาจเกิดความลื่น เป็นอันตรายต่อผู้ใช้สระอีกต่างหาก ดังนั้นทางที่ดีก็ควรทำความสะอาดสระว่ายน้ำเป็นประจำทุกสัปดาห์ โดยใช้เครื่องดูดตะกอนสำหรับทำความสะอาดสระว่ายน้ำ เลือกใช้ให้เหมาะสมกับสภาพสระว่ายน้ำของคุณเองด้วยนะคะ ส่วนผนังสระว่ายน้ำ หากเป็นคอนกรีต หรือกระเบื้อง สามารถใช้แปรงขนแข็งทำความสะอาดได้เลย แต่ถ้าเป็นกระเบื้องไวนิลหรือไฟเบอร์กลาส แนะนำให้ใช้ฟองน้ำนุ่ม ๆ ทำความสะอาดก็พอ
9. ดูแลขอบสระว่ายน้ำด้วย
ดูแลภายในสระว่ายน้ำไปแล้วก็อย่าลืมพื้นที่บริเวณรอบสระว่ายน้ำด้วย โดยเฉพาะขอบสระว่ายน้ำที่มักจะมีเศษฝุ่น และเศษใบไม้แห้งเกะกะอยู่ตลอด ซึ่งวิธีทำความสะอาดขอบสระคุณสามารถทำได้โดยใช้ไม้ด้ามยาวช้อนเศษใบไม้และสิ่งสกปรกออกจากสระให้หมด พร้อมทั้งขัดถูบริเวณขอบสระทุก ๆ 2-3 วันด้วยนะคะ
ถ้าอยากให้สระว่ายน้ำในบ้านมีสภาพพร้อมใช้งาน สวยงาม น้ำใสแจ๋วอยู่ตลอด ลองทำตามเคล็ดลับดูแลสระว่ายน้ำที่เราบอกกันเป็นประจำก็ได้จ้า